ประวัติความเป็นมา


ประวัติความเป็นมา   

​   กองทัพอากาศได้กำหนดทิศทางการดำเนินการพลังงานทดแทน ตามแนวทางโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระประมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช นโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้กำหนดกรอบทิศทางการดำเนินการดังกล่าวในยุทธศาสตร์ กองทัพอากาศ พ.ศ.2551 ถึง 2562 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2557) โดยมีวิสัยทัศน์เป็นกองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค ในหัวข้อยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างสมรรถนะและความพร้อมในการป้องกันประเทศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุง โดยระบุโครงการ งาน กิจกรรม ในแผนแม่บทการส่งกำลังบำรุง พ.ศ.2553 - 2556 และ พ.ศ.2557 - 2562 ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาด้านส่งกำลังบำรุงตามยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รวมทั้งนโยบายผู้บัญชาการทหารอากาศ พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานสำรองทั้งในยามปกติและในยามขาดแคลนพลังงาน  รวมทั้งมุ่งเน้นการอนุรักษ์พลังงานทุกรูปแบบ

​   เริ่มจากปี พ.ศ.2551 กองทัพอากาศได้แต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่ศึกษาข้อมูลการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสำรอง โดยมี พลอากาศโท อนาวิล  ภิรมย์รัตน์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศ ฝ่ายยุทธบริการ (ตำแหน่งขณะนั้น) เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำงาน ได้จัดทำโครงการนำร่องพลังงานแสงอาทิตย์ ณ สถานีถ่ายทอดโทรคมนาคมบ้านลาดช้าง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี มีขนาดกำลังไฟฟ้าเฉลี่ย 10 กิโลวัตต์ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่บทบาทและการดำเนินการของกองทัพอากาศกับพลังงานทดแทน โดยเชื่อมต่อระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เข้ากับระบบไฟฟ้าปกติของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อ 15 ตุลาคม 2551 และ พลอากาศเอก อิทธพร  ศุภวงศ์ เสนาธิการทหารอากาศ (ตำแหน่งขณะนั้น) เป็นประธานพิธีเปิดโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวเมื่อ 9 ธันวาคม 2551 สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 20,000 หน่วยต่อปี ทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 55 หน่วยต่อวัน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 60,000 บาทต่อปี  อีกทั้งได้รับความรู้และข้อมูลเพื่อนำต้นแบบระบบพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ประโยชน์ทางราชการ ตลอดจนเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกองทัพอากาศในการใช้พลังงานสะอาด  ช่วยลดภาวะโลกร้อน  มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงาน  และสร้างจิตสำนึกให้กับข้าราชการและชุมชนด้านพลังงาน

​ในปี พ.ศ.2552 กองทัพอากาศได้แต่งตั้งคณะกรรมการพลังงานทดแทนกองทัพอากาศ โดยมี พลอากาศเอก อนาวิล  ภิรมย์รัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ (ตำแหน่งขณะนั้น) เป็นประธานกรรมการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนของกองทัพอากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ สามารถใช้เป็นพลังงานสำรองได้ ทั้งในยามปกติ รวมทั้งในยามขาดแคลนพลังงาน ตามนโยบายของกองทัพอากาศ  และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล