ยุทธศาสตร์พลังงานทดแทน ทอ.
ความเป็นมาของแผนยุทธศาสตร์ฯ
ในปี 2553 คณะกรรมการพลังงานทดแทนกองทัพอากาศ โดย พลอากาศเอก สมนึก สวัสดิถึก ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพอากาศ ประธานกรรมการพลังงานทดแทนกองทัพอากาศ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ พ.ศ.2553 - 2568 เพื่อใช้การขับเคลื่อน รวมทั้งกำหนดทิศทาง กรอบการดำเนินการ พลังงานทดแทนของกองทัพอากาศ ให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม สามารถเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพอากาศให้ก้าวหน้าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมด้านพลังงาน และดำรงไว้ซึ่งขีดความสามารถของกองทัพอากาศ มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ แผนแม่บทด้านส่งกำลังบำรุง นโยบายผู้บัญชาการทหารอากาศ แผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนของกระทรวงกลาโหม และแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ มีกรอบทิศทางในการขับเคลื่อน ดังนี้
ระยะที่ 1 พ.ศ.2553 - 2557 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ โดยมีการจัดหา ติดตั้ง และใช้พลังงานทดแทนในการผลิตพลังงานไฟฟ้า สำหรับเป็นพลังงานสำรองให้กับหน่วยงานกองทัพอากาศ โดยเน้นหน่วยที่ไม่มีพลังงานไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ อาทิ ศูนย์โทรคมนาคมและสถานีถ่ายทอดโทรคมนาคมซึ่งอยู่ห่างไกล เป็นต้น อีกทั้งยังใช้ก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตพลังงานความร้อนและใช้ไบโอดีเซลเชื้อเพลิงระดับชุมชนอีกด้วย ที่สำคัญคือ ได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนขึ้น
ระยะที่ 2 พ.ศ.2558 - 2562 จะมีการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากขึ้น ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานเชิงพาณิชย์ โดยสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน จัดให้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของกองทัพอากาศ รวมถึงพัฒนาศูนย์การเรียนรู้โดยเน้นการจัดการความรู้ด้านพลังงานทดแทนเพื่อภารกิจของกองทัพอากาศ เป็นหลัก
ระยะที่ 3 พ.ศ.2563 - 2568 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ กองทัพอากาศ มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อความมั่นคงทางพลังงานและสามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนของกระทรวงกลาโหม และที่สำคัญ คือ มุ่งหวังที่จะสามารถผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอากาศยานอีกด้วย
ในปี 2556 คณะกรรมการพลังงานทดแทนกองทัพอากาศ โดย พลอากาศเอก เฉลิม ตรีเพ็ชร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ ประธานกรรมการพลังงานทดแทนกองทัพอากาศ ได้ทบทวนแผนงาน โครงการ และงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ พ.ศ.2553 - 2568 ที่ถูกกำหนดไว้ระหว่างปี พ.ศ.2553 - 2557 โดยส่วนที่เหลือยังไม่ถูกกำหนด พร้อมจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนกองทัพอากาศ พ.ศ.2556 - 2560 เพื่อเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และสามารถติดตามการดำเนินการปฏิบัติเป็นรูปธรรม อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การบริหารจัดการด้านพลังงานทดแทน
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทน
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานทดแทน
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทน
เป้าประสงค์ที่สำคัญคือการเพิ่มสัดส่วนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนให้เป็นร้อยละ 2 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของกองทัพอากาศภายใน พ.ศ.2560 โดยมีตัวชี้วัด ดังนี้
ในปี 2559 คณะกรรมการพลังงานทดแทนกองทัพอากาศ โดย พลอากาศเอก สุรศักดิ์ มีมณี ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ ในฐานะประธานกรรมการพลังงานทดแทนกองทัพอากาศ ได้ทบทวนแผนงาน โครงการ และงบประมาณและได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ พ.ศ.2553 - 2568 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2559) โดยได้พิจารณาเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายของชาติเพิ่มเติม ประกอบด้วย 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การบริหารจัดการด้านพลังงานทดแทน
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทน
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนรวมทั้งการอนุรักษ์พลังงาน
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานทดแทน
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทน
โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ระยะ ดังนี้
ระยะสั้น พ.ศ.2553 - 2560 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ให้เป็นร้อยละ 2.0 ของการใช้พลังงานของกองทัพอากาศ
ระยะกลาง พ.ศ.2561 - 2564 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ให้เป็นร้อยละ 4.0 ของการใช้พลังงานของทัพอากาศ และมีการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งการอนุรักษ์พลังงาน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
ระยะยาว พ.ศ.2564 - 2568 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ให้เป็นร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานกองทัพอากาศในปี พ.ศ.2568 และส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนรวมทั้งการอนุรักษ์พลังงานของกองทัพอากาศ ให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า และสร้างองค์ความรู้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน